
การสั่งสอนให้ลูกเชื่อฟังเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรปฏิบัติอย่างมาก แต่คำว่าให้ลูกเชื่อฟังในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการให้ลูกกลัวจนไม่กล้าบอกกล่าวหรือทำอะไรแบบไม่เป็นตัวเองเลย การสั่งสอนให้ลูกเชื่อฟังต้องมีเทคนิครู้วิธีการอย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีความยำเกรงต่อพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ แต่ไม่ได้มีความหวาดกลัว ดังนั้นขั้นตอนง่ายๆ เพื่อจะทำให้ลูกเชื่อฟังควรเริ่มต้นตั้งแต่เขายังเด็กรับรองว่ายังไงก็ได้ผล
5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่ทำให้ลูกเชื่อฟัง
- ใช้หลักเหตุผลในการพูดคุยเสมอ – การบอกกล่าวตักเตือนลูกไม่ใช่การดุด่าว่าร้ายแต่ควรสอนด้วยหลักเหตุผลว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดถูกอย่างไร หากผิดก็ว่าไปตามผิดพร้อมบอกรายละเอียดที่เกิดขึ้นว่าการกระทำแบบนี้ทำไมจึงผิดเพื่อให้ลูกได้เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่เหมาะสมและจะได้ไม่กระทำอย่างนี้อีก หากไปดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรงนอกจากลูกจะไม่อยากรับฟังแล้วยังไม่เข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เขาทำผิดตรงไหนยังอาจจะทำให้เกิดการต่อต้านได้
- ฟังเหตุผลของลูกด้วย – นอกจากการให้เหตุผลของพ่อแม่แล้วการรับฟังเหตุผลของลูกคือสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะด้วยวัยกับมุมมองอันแตกต่างบวกกับประสบการณ์ชีวิตที่น้อยทำให้เขาอาจมองบางเรื่องไมทะลุปรุโปร่ง ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำ การรับฟังเหตุผลของลูกว่าทำเพื่ออะไรแล้วค่อยอธิบายความคิดของเขาจะทำให้ลูกเข้าใจและรับฟังพ่อแม่มากขึ้น
- พูดจาอ่อนโยน – การพูดจาเป็นการแสดงออกถึงความรักอย่างหนึ่ง แม้บางคนจะบอกว่าไม่คุ้นชินกับการพูดจาหวานๆ อ่อนโยน พูดจาไพเราะ แต่ถ้าอยากให้ลูกเชื่อฟังการพูดจาแบบนี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกรู้สึกว่ามีความเกรงใจจนไม่อยากออกนอกลู่นอกทาง
- ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าลูก – การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวจะทำให้เด็กจดจำ นำไปทำตามได้ พอเด็กกระทำบ้างก็จะบอกได้ว่าทำตามพ่อแม่และพอพ่อแม่พูดอะไรก็จะไม่ฟังไม่ทำตาม ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือความรุนแรงให้ลูกเห็นเป็นอันขาด
- อย่าโกหกแบบเก่าๆ – ประเภทที่ว่าทำไม่ดีผีจะมาจับตัว ทำแบบนี้เดี๋ยวตำรวจจับนะ พ่อแม่ควรเลิกการโกหกหลอกลวงอะไรแบบนี้กับลูกได้แล้ว เพราะหากทำแบบนี้บ่อยๆ พอเขาโตขึ้นก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่จริงและไม่อยากรับฟังอะไรจากพ่อแม่เนื่องจากว่าโกหกเขามาตั้งแต่เด็กกับเรื่องอะไรที่ไม่น่าโกหกเลยแม้แต่น้อย